สมุนไพรไล่ยุง

ในอดีต การไล่แมลง ลิ้น เหลือบ ที่ไต่ตอม ตัววัว ควาย หรือสัตว์เลี้ยง ใช้วิธีสุมหญ้าเผา ให้เกิดควันไฟ โดยการเผาในช่วงพลบค่ำ หรือหลังพระอาทิตย์ตกดิน ทำให้ควันไม่ลอยสูง จะอยู่เรี่ยดิน ทำให้ควันไล่แมลงตามตัววัวควายนั้นได้ ทำให้วัว ควายอยู่สุขสบายไม่ถูกรบกวน การใช้หญ้านั้น มีหลายท่าน ชื่นชอบกลิ่นควันจากหญ้า กล่าวว่าทำให้เกิดกลิ่นหอม แต่คนรุ่นใหม่ ไม่ชอบกล่าวว่าทำให้เกิดมลพิษ หายใจไม่ออก และเป็นที่มาของการห้ามเผาใบไม้หรือหญ้าแห้ง และการเผาทุกอย่าง ที่ทำให้เกิดอณูของฝุ่นละออง
การไล่แมลง เหลือบ และยุง การเผาหญ้าไม่ใช่วิธีเดียวที่กระทำกัน ในอดีตผู้รู้จะใช้ เถาหรือต้นเล็บมือนาง หมกในดินเหนียวที่เปียกเล็กน้อย แล้วสุมไฟไล่ โดยปกติ เมล็ดเล็บมือนาง ซึ่งมีสรรพคุณในการฆ่าพยาธิ การใช้ดินเหนียวนั้น เพื่อให้การเผาไหม้ช้าลง และเกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ จึงทำให้เกิดเป็นควัน

วิธีการอื่น ได้แก่การใช้เปลือกส้ม หรือพืชตระกูลเดียวกับส้ม ตากแห้ง เผาในช่วงเย็นทำให้เกิดควันไฟ ไล่ยุง ชุมชนอาจทำเป็นยาไล่ยุง โดยตำเปลือกส้มให้เป็นผง ผสมขี้เลื่อยเช่นจากไม้มะม่วงและเติมสารเหนียวหรือแป้งเปียก ทำให้เกาะตัวกันเป็นแท่ง หรือผสมให้เป็นขด
ยาไล่ยุงสมัยใหม่ หากทำจากสารเคมี มักมีระยะเวลาออกฤทธิ์นาน 8 ชั่วโมง แต่เนื่องจากเป็นสารสังเคราะห์จึงเกรงกันว่าหากใช้เป็นเวลานาน อาจเกิดอันตราย จึงมีการสกัดหรือกลั่นสมุนไพรที่มีสรรพคุณไล่ยุง โดยใช้ประโยชน์จากน้ำมันของพืชตระกูลส้ม เช่น มะนาว ส้มโอ ส้มขุน หรือมะกรูดและอื่นๆ นอกจากนั้น อาจมีการใช้พืชตระไคร้หอม หรือตะไคร้ต้น
เมื่อได้น้ำมันแล้วจึงนำมาผสมในผลิตภัณฑ์เป็น ครีม เจล หรือสเปรย์ วิธีการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จะไม่ทาทั้งตัวเหมือนทาครีมบำรุง ควรแต้มเป็นจุดหรือแห่งไป หากไม่สามารถกลั่นน้ำมันได้ อาจใช้วิธีทุบส่วนที่มีน้ำมัน ให้เซลแตก อย่างเช่นตะไคร้หอม ก็นำส่วนใบรวมทั้งหัว มาทุบหรือซอยละเอียดและแช่น้ำทิ้งไว้ อัตราส่วน ให้น้ำพอท่วมสมุนไพร พร้อมปิดฝากภาชนะ แล้วนำส่วนที่เป็นน้ำแยกออกมา ฉีดพ่นให้ทั่วบริเวณที่มียุง
อย่างไรก็ดี การใช้สมุนไพร อาจออกฤทธิ์สั้นกว่า เช่น 4 ชั่วโมง ผลิตภัณฑ์ที่จำหน่าย จะต้องมีการทดสอบเพื่อดูว่า สามารถป้องกันการเกาะของยุง โดยการทดสอบก่อนนำออกสู่ตลาด และควรไม่เป็นพืชที่อันตราย หรือเกิดการระคายเคืองผิว หากใช้น้ำมัน ไม่ควรใช้โดยตรง ต้องเจือจางก่อน อย่างเช่นตะไคร้หอม ในรูปยาน้ำมีตะไคร้หอม 10% หากใช้ 100% อาจเกิดการระคายต่อผิว รวมทั้งภายหลังการฉีดพ่น ไม่ควรสูดดม สัมผัสมากเนื่องจากส่วนใหญ่ยาฉีดพ่น หรือสเปรย์ มักมีการเติมแอลกอฮอล์ และสารอื่น

สำหรับการพัฒนายาไล่ยุง ที่มีการพัฒนาจากยาฆ่าแมลง หรือยาเบื่อ เช่น หางไหล ยาฉุนหรือยาสูบ และว่านน้ำ จึงควรผ่านการทดสอบก่อนว่าปลอดภัยหรือไม่ เนื่องจากการใช้ไล่ยุง ค่อนข้างใช้ในลักษณะใกล้ชิดกับคน จึงอาจเกิดอันตรายจากกาสัมผัสในปริมาณมาก ในแง่นี้ การใช้แบบโบราณ ย่อมได้เปรียบกว่า เนื่องจากจะใช้ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น

ยุงเป็นพาหะของโรคที่อันตรายหลายโรคไม่ว่าจะเป็น โรคไข้เลือดออก ไข้มาลาเรียหรือโรคชิคุนกุนยา ล้วนมียุงเป็นพาหะนำโรค ดังนั้นการป้องกันโรควิธีหนึ่งคือการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ของยุง นอกจากนี้คือการกำจัดยุงหรือขับไล่ยุงไม่ให้เข้ามาใกล้เรา ในเมืองไทยมีสมุนไพรหลายชนิดที่นำมาใช้ประโยชน์ในการไล่ยุงให้ห่างไกลเราได้


สมุนไพรที่สามารถนำมาใช้ไล่ยุงได้เช่น ตะไคร้ กะเพรา ดาวเรืองและพืชในตระกูลส้มเช่น มะกรูด ส้มโอ เป็นต้น ข้อดีของการใช้สมุนไพรไล่ยุงคือ ไม่มีปัญหาสารเคมีตกค้างและปลอดภัยกว่าสารเคมีแบบกระป๋องที่ใช้ฉีดฆ่ายุง พืชสมุนไพรที่ใช้ไล่ยุงได้และได้ผลดีเสียด้วยจะมีน้ำมันหอมระเหยเป็นส่วนประกอบในตัวสมุนไพรนั้นๆ ลองนำใบกะเพรามาขยี้จนมีน้ำมันหอมระเหยออกมา ส่วนที่เป็นน้ำมันหอมระเหยนี่เองที่มีคุณสมบัติในการไล่ยุงได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ในตะไคร้หอมก็เช่นเดียวกัน จะมีน้ำมันหอมระเหยที่ออกฤทธิ์ไล่ยุงได้ผลดีนัก ลองสังเกตให้ดีถ้าบ้านไหนปลูกต้นตะไคร้ไว้รอบๆบ้าน บ้านนั้นจะไม่ค่อยมียุงมากวนใจเลย ส่วนพืชในตระกูลส้มเช่น ส้มโอ ส้มเขียวหวาน มะกรูด ให้นำเปลือกมาตากแดดให้แห้งแล้วนำไปใช้ไล่ยุงโดยการเผาไฟให้น้ำมันหอมระเหยที่อยู่ในเปลือกพืชตระกูลส้มช่วยออกฤทธิ์ไล่ยุงไม่ให้มารบกวนได้


ยุง เป็นสิ่งที่นอกจากจะสร้างความรำคาญให้กับคนแล้วยังเป็นพาหะนำโรคหลายชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านที่มีเด็กเล็กๆ โอกาสที่จะถูกยุงกัดจึงมีมาก ดังนั้นลองหาทางป้องกันยุงโดยใช้สมุนไพรไล่ยุง นอกจากจะไม่มีอันตราย ราคาไม่แพงแล้วยังเป็นวิธีที่ใช้ได้ผลดีอีกด้วย พูดได้ว่ามีแต่กำไรไม่มีขาดทุน....จริงๆ